มาเรียนรู้ไอเดียสร้างสรรค์ กิจกรรมสานสัมพันธ์ โดยคุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ (Part 1/2)
19 ก.พ. 2568 114

คุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ เริ่มต้นจากการอยากที่จะจัด “กิจกรรม” สำหรับนักเรียน และผู้ปกครองทุกสายชั้น FamSkool อยากขอเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมเดินทางไปกับพวกเขา ย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพื่อเรียนรู้ว่าพวกเขามีแนวคิด และวิธีการอย่างไร

 

การเดินทาง ในการสร้างสรรค์ กิจกรรมสานสัมพันธ์

คุณครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง

 

Relationship building activities 

 

จุดเริ่มต้น

 

คุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ เริ่มต้นจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์หลังจากสังเกตเห็นว่าเด็กนักเรียนเริ่มมีการบูลลี่กันภายในโรงเรียน โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.6 ที่ถือว่าเป็นพี่ใหญ่สุดในระดับชั้นประถม คุณครูจึงเกิดความกังวลว่าเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับชั้น ม.1 เด็กจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมของวัยมัธยมได้

คุณครูจึงเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจให้กับเด็กๆ โดยเป็นกิจกรรมทางด้านพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมที่วัด 3 วัน 2 คืน ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีประมาณนึง ต่อมาคุณครูจึงอยากจะพัฒนากิจกรรมให้มีความทันสมัย และน่าสนใจ เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กๆ มากขึ้น

 

ได้รู้จักกับ FamSkool

 

ถือเป็นโชคชะตาที่นำพาให้ คุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ ได้เห็นโพสโปรโมทกิจกรรมของ FamSkool แล้วรู้สึกสนใจ จึงได้สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ทำให้ได้รู้จักกับแนวคิดในเรื่องของ จิตวิทยาเชิงบวก PERMA รวมไปถึงการได้ที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรม และได้ติดอาวุธ เครื่องมือต่างๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้แข็งแรง เช่น การ์ดเชื่อมใจ

 

วางวัตถุประสงค์

 

หลังจากที่ได้ติดอาวุธกับ FamSkool เรียบร้อยแล้ว คุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ ก็ได้เริ่มวางแผน และนำเสนอไอเดียการจัดกิจกรรมให้กับผู้ปกครอง รวมไปถึงคุณครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียน ระบุกลุ่มเป้าหมาย และวัตถุประสงค์หลัก ว่าต้องการจัดกิจกรรมเพื่อให้ “ผู้ปกครองได้ฟังเสียงของเด็ก”

 

ออกแบบกิจกรรม

 

จากวัตถุประสงค์หลักที่ได้ตั้งไว้ คุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ จึงออกแบบกิจกรรมเป็น 3 ฐาน คือ

  • ฐานใจ ที่จะชวนเด็กและผู้ปกครอง จัดดอกไม้แบบ “โคริงกะ” เพื่อช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน มีสมาธิ รู้จักกันการชื่นชมความสวยงาม และมองเห็นถึงความหลากหลายในแต่ละตัวตน เปรียบเสมือนดอกไม้ ที่มีทั้งด้านที่สวยงามชวนมอง ด้านที่อาจจะไม่อยากให้ใครเห็น แต่ทั้งหมดก็คือความสวยงาม เป็นการยอมรับตัวตนที่แตกต่างกันออกไป

  • ฐานกาย ที่จะชวนเด็กและผู้ปกครอง ละลายพฤติกรรม ผ่านการเคลื่อนไหว การร้องเพลงประสานเสียง เพื่อช่วยให้เกิดความสามัคคี และการรับฟังคนรอบข้าง เพราะการร้องเพลงประสานเสียงจะต้องฟังกันและกันในขณะที่ร้องจึงจะเกิดความไพเราะ

  • ฐานคิด ที่จะชวนเด็กและผู้ปกครอง เปิดใจ และเข้าใจกันและกันมากขึ้น ผ่านกิจกรรมการใช้คำพูดให้ผู้ฟังรู้สึกชื่นใจ (น้ำใส-น้ำขุ่น) เพื่อช่วยให้เกิดการรับรู้ความรู้สึกของกันและกัน ผลกระทบของการใช้คำพูด รวมไปถึงได้รับรู้มุมมองของเด็กๆ ที่มีต่อการกระทำต่างๆ ของเรา

 

รับ Feedback

 

เมื่อกิจกรรมได้ดำเนินไปจนถึงช่วงท้าย คุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ ก็ได้จัด Session สำหรับให้เด็กๆ และผู้ปกครองได้พูดคุยกัน ผ่านกิจกรรมการ์ดเชื่อมใจ  และจึงไปสอบถามความรู้สึกของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่มองว่า 

  • เขารู้สึกดีที่ได้มาทำกิจกรรมในวันนี้ร่วมกับบุตรหลานของเขา 

  • วันนี้เขาได้เห็นแล้วว่าโรงเรียนได้ทำสิ่งใดให้กับเด็กๆ บ้าง

  • เขารู้สึกภูมิใจในตัวเด็ก ที่ได้เห็นว่าเด็กๆ กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้านำเสนอความเป็นตัวเอง ทำให้เขาได้เห็นถึงมุมมองของเด็กๆ และจุดแข็งของเด็กๆ บางอย่างที่เขาอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน

 

ซึ่งตัวของคุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ และ FamSkool ก็รู้สึกภูมิใจมากๆ เช่นเดียวกันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนากิจกรรมสานสัมพันธ์ คุณครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง ให้เกิดขึ้นได้

และนี่คือก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของคุณครู โรงเรียนบรรจงรัตน์ และ FamSkool หวังว่าการเดินทางในการสร้างสรรค์ กิจกรรมสานสัมพันธ์ คุณครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง ครั้งนี้จะช่วยจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ให้กับคุณครู โรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้ทุกความสัมพันธ์จับต้องได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
Famskool จากโรงเรียนสู่ครอบครัวเชิงบวก
“เพราะตระหนักว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึนในโรงเรียนเท่านัน แต่ครอบครัว  มีส่วนสาคัญในการช่วยให้เด็กค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง” หนังสือ Famskool จากโรงเรียนสู่ครอบครัวเชิงบวก เป็นหนังสือประมวลประสบการณ์จากโครงการ FamSkool (FamSkool Positive Family Engagement Project) อัดแน่นกว่า 20 เรื่องราวบันดาลใจ จากคุณครูที่เข้าร่วมโครงการ เริ่มจาก   1. การปรับมุมมอง 2. การเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร 3. การปลูกกิจกรรม บนพื้นฐานของแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก   ในหนังสือเล่มนี้จะนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวก ที่สามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียนได้มากขึ้นเช่นกันด้วย ดาวโหลดได้เลยที่นี่ Book-FamSkoolDownload   “เมื่อครูมีมุมมองเชิงบวกต่อเด็ก เชื่อว่าเด็กทุกคนมีคุณค่าบางอย่างในตัวเอง เป็นผู้ชี้แนะให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง ชี้ให้เด็กเห็นทางเลือกที่ดีหลากหลายทาง ให้เด็กได้เลือกทำด้วยตนเอง บรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ทั้งสำหรับครูและนักเรียน” ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์คุณครูในหนังสือ Famskool จากโรงเรียนสู่ครอบครัวเชิงบวก
3 ต.ค. 2566
115
บันทึกการเดินทางของโครงการ FamSkool 2020-21 ภาคเหนือ Module 1
FamSkool เป็นโครงการที่มีแนวคิดมาจากการที่คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็กรู้จักเด็กไม่รอบด้าน เนื่องจากไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ดังนั้นการที่จะทำความรู้จักเด็กเพื่อเข้าใจให้รอบด้านมากขึ้น และสนับสนุนพวกเขาให้ก้าวผ่านช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาไปได้อย่างราบรื่นที่สุดนี้ก็จำเป็นที่ต้องอาศัยข้อมูลจากในมุมที่เด็กอยู่ที่โรงเรียนจากคุณครูด้วยเช่นกัน    โครงการนี้จึงเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับการทำงานร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และตัวเด็ก โดยหลักของ 3 ป. คือ ปรับมุมมอง ทั้งคุณครู ครอบครัว และตัวเด็กว่าการทำงานร่วมกันนี้เป็นไปในเชิงบวก และเชิงรุกได้ โดยการใช้ strengths มาเป็นมุมมองสำหรับมองกันและกัน เปลี่ยนวิธีการสื่อสาร อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการสื่อสารของแต่ละช่วงวัย ต่างก็มีชุดคำที่ใช้แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการสื่อสารกันแบบ I-You message หรือการตอบสนองต่อพฤติกรรมหรืออารมณ์ในเชิงบวก (ACR) เปลี่ยนกิจกรรม โดยนำจิตวิทยาเชิงบวก เช่น Character Strengths มาเป็นฐานในการใช้คิดกิจกรรม    โดยเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ 18-19 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มการจัด FamSkool 2020-21 ครั้งแรก สำหรับ Module 1 นี้ ซึ่งมี 4 โรงเรียนแกนนำจากภาคเหนือเข้าร่วม ประกอบด้วย  - โรงเรียนเชียงของวิทยาคม (เชียงราย)  - โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม (เชียงใหม่)  - วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา (เชียงใหม่) - และโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง (ตาก) เข้าร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน   FamSkool Module 1 นี้ได้มีการทำงานเรื่องของการปรับมุมมองสู่มุมมองบนพื้นฐานจิตวิทยาเชิงบวก และทดลองเริ่มต้นออกแบบกิจกรรมโดยใช้ Character Strengths ร่วมกับ Positive Family Engagement CANVAS (PFE CANVAS)   โดยกระบวนการได้เริ่มต้นจากชวนให้ครูทบทวนความคาดหวัง เป้าหมายในการเข้าร่วม หลังจากการทบทวนเป้าหมายโครงการร่วมกันเรียบร้อยแล้ว จึงมีการแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยคุณครูก็ได้เขียนถึงความคาดหวังและสาเหตุของความคาดหวังที่พาให้มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้      หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมที่จะพาคุณครูได้สะท้อนคิดกับตัวเอง นึกย้อนถึงเส้นทางชีวิตกว่าจะมาเป็นครูในวันนี้ จากนั้นก็เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มย่อยที่มีคุณครูจากต่างโรงเรียน และสุดท้ายก็นำมาสะท้อนกันผ่านกลุ่มใหญ่ด้วยโจทย์ที่ว่า “สิ่งที่ส่งผลต่อสิ่งที่เราเป็น หรือสิ่งที่เราทำในทุกวันนี้มากที่สุด คืออะไร” ซึ่งก็ได้เปิดโอกาสให้คุณครูได้แชร์เรื่องราวให้เพื่อนครูด้วยกันฟังด้วย     นอกจากประสบการณ์ที่คุณครูได้ร่วมแชร์แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นคำตอบให้กับโจทย์นี้ได้ก็คือ ชุดความคิด (Mindset) โดยในแต่ละคนใช้เป็นกรอบที่จะนำไปมองประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็น step แรกที่จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่าจะทำอะไรต่อไป โดยชุดความคิดนี้จะถูกแบ่งแบบกว้าง ๆ ได้ 2 ประเภท ก็คือ ชุดความคิดแบบตีบตัน (Fixed Mindset) เป็นการมองว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ยาก หรือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงแล้ว และชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เป็นการมองว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้   โดยเริ่มจากการสังเกตหลุมพรางความคิด เช่น ชอบคิดว่าคนอื่นจะคิดยังไงนะ, คิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะตัวเอง, คิดว่าผลที่ฉันได้รับเป็นสาเหตุมาจากคนอื่นแน่ ๆ, คิดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม ๆ วนไป, และภาวะสิ้นหวัง (helplessness) ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าความคิดนั้นเป็น step แรก ที่ส่งผลต่อการกระทำ ดังประโยคที่เรามักจะได้ยินกันอย่างคุ้นหูที่ว่า “ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน” ดังนั้นแล้วเราก็จะพาคุณครูไปทำความรู้จักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ที่เป็นการมองโลกความเป็นจริงอย่างมีความหวัง ที่เป็นกระบวนการป้องกันมากกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น   โดยหลักสำคัญของจิตวิทยาเชิงบวก คือ PERMA  P = Positive Emotions คืออารมณ์เชิงบวก 10 อารมณ์E = Engagement คือสภาวะที่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับสิ่งที่ทำอยู่R = Positive Relationship คือความสัมพันธ์เชิงบวกM = Meaning คือคุณค่าในชีวิต สำหรับวัยรุ่นนั้นอาจจะเป็นการมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง (Optimistic)A = Accomplishment คือความสำเร็จ ซึ่งในวัยรุ่นอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดนัก จึงให้ความดูที่ความพยายามเพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาวของเขาแทน (Grit)   หลังจากทำความรู้จักในเรื่องของชุดความคิด หลุมพรางความคิด และจิตวิทยาเชิงบวกแล้ว คุณครูก็ได้ลองใช้สิ่งที่เรียนผ่านการทำกิจกรรม Positive Family Engagement      ในช่วงบ่ายนี้เริ่มด้วยการทำความรู้จัก 24 จุดแข็งเชิงบวก (Character Strengths) ว่าแต่ละจุดแข็งมีความหมายว่าอย่างไร คนรอบตัวของคนที่มีจุดแข็งเชิงบวกนั้น ๆ จะมีความคิดเห็นหรือความรู้สึกยังไงต่อเขาบ้างนะ และจุดแข็งเชิงบวกเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เมื่อคุณครูได้ทำความรู้จักกับจุดแข็งเชิงบวกนี้แล้ว คุณครูเองก็จะได้ลองดูจุดแข็งในตัวเอง และได้รู้จากอีกมุมมองหนึ่งของเพื่อนครูด้วยกัน นอกเหนือจากนี้ยังได้มีกิจกรรมที่พาให้คุณครูได้ลองนำจุดแข็งเชิงบวกมาปรับใช้กับกิจกรรมเดิมที่เคยทำ หรือสร้างกิจกรรมใหม่เพื่อผลลัพธ์ที่มากกว่าสำหรับการสร้างความร่วมมือกับครอบครัว หรือการนำไปใช้ในการทำความเข้าใจ และมองมุมต่าง ๆ ของเด็กได้รอบด้านและเป็นไปในทางเชิงบวกมากขึ้น หลังจากการเดินทางตลอดทั้งวันมานี้ก็ปิดท้ายวันแรกด้วยการเข้าร่วมชมภาพยนตร์ “The little star on earth” ภาพยนตร์อินเดียที่พาเราไปสำรวจการเติบโตของเด็กผ่านการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบแฝงไปด้วยแง่คิดที่น่าสนใจไปพร้อม ๆ กัน     FamSkool 2020-21 ภาคเหนือ Module 1 ได้เดินทางมาสู่วันที่สอง ในช่วงเช้าหลังเริ่มต้นด้วยการสะท้อนคิดจากภาพยนตร์ที่ได้ชมไปเมื่อคืนโดยอิงจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปจากเมื่อวาน ซึ่งคุณครูในแต่ละกลุ่มนั้นก็หยิบยกทั้งเรื่องของชุดความคิด และจิตวิทยาเชิงบวกในเรื่องต่าง ๆ มาอธิบายได้อย่างครอบคลุมเนื้อหาของภาพยนตร์เลยทีเดียว หลังจากนั้นการเดินทางก็เข้มข้นมากขึ้นเพราะเป็นวันที่คุณครูในโรงเรียนเดียวกันจะร่วมด้วยช่วยกันระดมความคิดในการออกแบบการทำงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างครอบครัวและโรงเรียนบนพื้นฐานจิตวิทยาเชิงบวก ผ่าน Positive Family Engagement CANVAS (PFE CANVAS) ที่ทาง Life Education (T้hailand) ได้พัฒนาร่วมกับ Outermost เพื่อเป็นตัวช่วยในการเรียบเรียงชุดความคิดในการทำงานร่วมกับครอบครัวบนฐานจิตวิทยาเชิงบวก และการเล่าเรื่องที่ทรงพลัง (powerful story telling) อันจะสามารถนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างครู ครอบครัว และส่วนนโยบายของโรงเรียนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้     การเดินทางสำหรับ Module 1 สิ้นสุดด้วยการที่คุณครูได้เริ่มมีแผนงานของตัวเองใน CANVAS ที่จะนำไปทำต่อให้เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้คุณครูแต่ละท่านยังได้ฝากข้อความถึงความประทับใจ และสิ่งที่อยากให้ซัพพอร์ตหรือสิ่งที่คุณครูอยากรู้เพิ่มเติมกับพวกเราไว้ด้วย ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูล และเตรียมความพร้อมของกิจกรรมให้สอดคล้องกับความคาดหวังของคุณครูให้ได้มากที่สุดสำหรับครั้งถัดไป แล้วพบกันใน FamSkool 2020-21 ภาคเหนือ Module 2 และสำหรับโรงเรียนที่สมัครใน 3 ภาคที่เหลือเตรียมอดใจรออีกนิดไม่เกิน สิงหาคมนี้เราจะมาร่วมสร้างการเดินทางบทใหม่ในการทำงานร่วมกับครอบครัวไปด้วยกันครับ    “เพราะความเป็นครอบครัว…ไม่ได้หยุดแค่ที่รั้วโรงเรียน”     เขียนโดย: อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ (สมิต) _ Life Education (Thailand) ร่วมด้วย ชนันญา น้อยสันเทียะ ภาพประกอบโดย: นางสาวดลพร นิธิพิทยปกฤต
9 ก.ค. 2568
124