
ก
ก
ก

FamSkool ติดเครื่องมือทรงพลัง ตัวช่วยความสัมพันธ์เด็ก ครอบครัว โรงเรียน
3 พ.ย. 2566
100
เพราะเชื่อว่าหากจะให้ ‘เด็ก’ จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีความสุขในการใช้ชีวิต ปัจจัยสำคัญคือต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว หรือครู
ดังนั้น FamSkool จึงได้คิดค้นกระบวนการสร้างความอุ่นใจให้ทุกความสัมพันธ์ โดยนำกรอบความคิดในเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) มาเป็นหัวใจในการพัฒนาเครื่องมืออันทรงพลัง เพื่อให้เด็ก ครอบครัว และโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างหลากหลาย อาทิ ‘การ์ด Character Strengths’ การหาอุปนิสัยที่เป็นจุดแข็งเชิงบวกของตนเองและผู้อื่น ‘การ์ดเชื่อมใจ’ ตัวช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ ผ่านชุดคำถามง่าย ๆ ‘บอร์ดปรับใจ’ เกมวิเคราะห์ปัญหาพฤติกรรมเด็ก และ ‘Empower: The family tool kit’ ชุดเครื่องมือเสริมพลังครอบครัว
ล่าสุดหลังจากเปิดเว็บไซต์ famskool.com นอกจากสาระน่ารู้ต่าง ๆ FamSkool ยังได้คิดค้นชุดเครื่องมือทรงพลังขึ้นมาใหม่ที่มีชื่อว่า Mind Journey และ Small Talk พร้อมนำ การ์ดเชื่อมใจ มาทำเป็นแบบออนไลน์เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงได้ง่าย อยู่ที่ไหนก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้แบบไร้ข้อจำกัด
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ หรือ พี่สมิต ผู้ก่อตั้ง Life Education Thailand เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทั้ง 3 เครื่องมือนี้ว่า เครื่องมือ Mind Journey สร้างขึ้นหลังจากที่ทีม FamSkool ค้นพบว่าครูที่ร่วมกิจกรรมเมื่อกลับไป เขาไม่มีพื้นที่ให้สื่อสาร ไม่มีพื้นที่ให้ระบาย ฮีลใจ เติมกำลังใจ หรือปรึกษาใครได้มากเท่าที่ควร
ด้านเครื่องมือ Small Talk ก็เกิดจากข้อค้นพบว่า การคุย การทายใจกันระหว่างครอบครัวกับเด็กนั้นมีประสิทธิภาพและมีพลังมาก ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี FamSkool จึงหยิบเอาคอนเซ็ปต์นี้มาพัฒนาต่อ
ส่วนข้อค้นพบของ การ์ดเชื่อมใจ นั้นมาจากการที่เราต้องการทำให้เกิดพื้นที่ของการพูดคุยกันแบบใส่ใจมากขึ้น ไม่ว่าจะกับครู นักเรียน หรือครอบครัว
| Mind Journey เครื่องมือสำหรับแชร์ประสบการณ์ของครู
พี่สมิต บอกว่า Mind Journey เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างมา เพื่อให้ครูที่จบการอบรมจากโครงการ FamSkool ไปแล้วได้มีพื้นที่ในการพูดคุยปรึกษากัน มีเครื่องมือช่วยในการตกผลึกทางความคิด แชร์ประสบการณ์ รวมไปถึงมีพื้นที่ปลอดภัยให้ครูได้ฮีลใจทางด้านคุณค่าตนเอง โดยในแพลตฟอร์ม Mind Journey จะมีการให้เลือกการเปลี่ยนแปลงของตนเอง เพราะในหลาย ๆ ครั้งเวลาที่ครูทำการเปลี่ยนแปลงให้คนอื่น แต่หลงลืมที่จะประเมินตนเอง ว่าได้พัฒนาคาแรคเตอร์ตัวไหน ได้พัฒนาความสุขในเรื่องอะไรบ้าง
ฉะนั้น FamSkool จึงอยากให้ Mind Journey เป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานกับเรื่องของการสร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ครูรู้สึกดีกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในตนเองไปพร้อมกัน ตามคอนเซ็ปต์ที่บอกว่า Feel good when do good
“เราพัฒนาเครื่องมือ Mind journey ไม่ใช่แค่ให้ครูใช้เพียงกลุ่มเดียว แต่โรงเรียนก็สามารถเข้าไปสร้างห้อง เพื่อให้เกิดกรุปการเรียนรู้ระหว่างครอบครัวด้วยกันได้ สามารถเข้าไปสร้างกิจกรรม สร้างชุดคำถาม แชร์ประสบการณ์ เพื่อที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างครอบครัว หรือกับกลุ่มเด็ก ๆ ด้วยกันเองก็สามารถทำได้”
| Small Talk เครื่องมือที่ช่วยทำงานกับครอบครัว
Small Talk เครื่องมือที่ช่วยถักทอความสัมพันธ์ในครอบครัว ตัวช่วยสำหรับครูและสถาบันการศึกษาในการเปลี่ยนวันพบผู้ปกครองที่แสนน่าเบื่อให้กลายเป็นวันที่เราจะได้ทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น โดยเป้าหมายหลักของ Small Talk คือให้ครูและโรงเรียนได้มีเครื่องมือสำหรับสร้างช่วงเวลาและความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ผ่านคำถาม 10 ข้อ ในรูปแบบของเกมเดาคำตอบ พร้อมยังมีแดชบอร์ดแสดงคะแนนในตอนท้ายที่สุด เพื่อสร้างแรงจูงใจที่อยู่บนอารมณ์เชิงบวก
“Small Talk เป็นเครื่องมือ Interactive ที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นตัวช่วย เวลาที่ครูจัดประชุมผู้ปกครอง แทนที่จะให้พ่อแม่เสียเวลาทั้งวันเพื่อมานั่งฟังว่าลูกตัวเองเรียนเก่ง เรียนดี หรือมีพฤติกรรมอย่างไรแล้วก็กลับไป เราเปลี่ยนมาเป็นทำกิจกรรมร่วมกันให้เด็กกับครอบครัวได้คุยเรื่องเล็ก ๆ ตั้งคำถามทายกันในเรื่องง่าย ๆ แบบเป็นเกมฟิลลิ่งคล้าย ๆ คาฮูท คือการเช็ตกิจกรรมหรือชุดคำถามขึ้นมา โดยครูหรือโรงเรียนสามารถเข้าไปเลือกชุดคำถามได้จาก Small Talk จะเอากี่คำถามก็สามารถเลือกได้ ซึ่งหลังทำกิจกรรมเสร็จคะแนนก็จะถูกโชว์ขึ้นเลย”
| การ์ดเชื่อมใจออนไลน์ เครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดเสียงพูดคุยระหว่างเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน
อีกหนึ่งเครื่องมือที่อยากนำเสนอก็คือ ‘การ์ดเชื่อมใจ’ หลายคนอาจจะเคยเห็น เคยได้ยิน หรือแม้กระทั่งเคยเล่นผ่านกิจกรรมที่ FamSkool จัดทำ ซึ่งหลังจากเปิดเว็บไซต์ ทางพี่สมิตและทีมเห็นว่าเครื่องมือตัวนี้สามารถปรับใช้ในโลกออนไลน์ได้ การ์ดเชื่อมใจแบบฉบับออนไลน์ จึงเกิดขึ้น
“การ์ดเชื่อมใจ เป็ดการ์ดที่ออกแบบมาบนพื้นฐานของการทำให้เกิดพื้นที่ของการพูดคุยกันแบบใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็น ครูกับเด็ก เพื่อนครูด้วยกันเอง โรงเรียนกับครอบครัว หรือระหว่างเด็กกับเด็ก ให้มีพื้นที่พูดคุยกันที่ไม่ได้จบบทสนทนาเร็วเกินไป สามารถขยายบทสนทนา ขยายความใส่ใจซึ่งกันและกันได้ ซึ่งตรงนี้แหละคือคีย์ของการ์ดเชื่อมใจ มันเป็นเหมือนการป้องกันการเกิดเรื่องใหญ่ ๆ เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาได้คุยกันเรื่องเล็ก ๆ โอกาสที่จะเกิดเรื่องใหญ่ ๆ ตามมาก็น้อยลง เพราะพวกเขามีพื้นที่ให้พูดคุยปลดปล่อยได้ เวลาไปกินข้าวด้วยกันก็รู้ว่าใครอึดอัดกับอาหารประเภทไหน เขาก็จะได้ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงลบกัน เห็นไหมว่าแค่รู้ว่าอีกคนชอบอาหารประเภทไหนก็เพิ่มความสัมพันธ์ในเชิงบวกได้แล้ว”
| คาดหวัง สร้างประโยชน์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
พี่สมิต เสริมว่า ทีมงานหวังว่านวัตกรรม เครื่องมือ และเกมต่าง ๆ ของ FamSkool จะถูกนำไปใช้ในรูปแบบที่หลากหลายและจำนวนมากที่สุด พร้อมคาดหวังว่าจะมีหลายพันชีวิตที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้
“เมื่อไหร่ก็ตามที่ครูหยิบเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน ทันสมัย เหมาะสมกับวัยทั้ง 3 ตัวนี้ไปใช้ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่แค่เด็กและครอบครัวของนักเรียน แต่ตัวครูเองก็จะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเด็กไปด้วย เพราะว่าครูจะได้ยินในสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน ได้เห็นเรื่องเล็ก ๆ ได้เข้าใจในความเป็นมนุษย์ จนนำไปสู่การสร้างพื้นที่ของความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นในห้องเรียน”
เครื่องมือและความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการสื่อสารเชิงบวก และสร้างประสบการณ์เชิงบวกระหว่างเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน จนนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ได้ไม่มีที่สิ้นสุดโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง มองเห็นตัวตน เข้าใจ ส่งเสริมให้เขามีความอยากเรียนรู้ และมองเห็นคุณค่าที่มีในตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการค้นพบศักยภาพของตนเองต่อไปในอนาคต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ